Header Image
​“พาณิชย์” ถกกงสุลกิตติมศักดิ์คาซัคสถาน ดันเปิดออฟฟิศทูตพาณิชย์ ขับเคลื่อนการค้า 2 ฝ่าย
watermark

“พาณิชย์” หารือกงสุลกิตติมศักดิ์ของไทยแห่งคาซัคสถาน และเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอัสตานา เดินหน้าขยายความร่วมมือการค้าตามนโยบาย “ภูมิธรรม” แจ้งความไทยประสงค์ไทยจะเปิดสำนักงานทูตพาณิชย์ เพื่อทำหน้าที่เป็นด่านหน้า เปิดประตูค้าขายระหว่างกัน พร้อมชวนร่วมงานแสดงสินค้าในไทย หรือมาเลือกซื้อสินค้า และประกาศร่วมมือด้าน Soft Power ระหว่างกัน
         
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤิทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยภายหลังการหารือกับ Dr.Mirgali Kunayev กงสุลกิตติมศักดิ์ของไทยแห่งสาธารณรัฐคาซัคสถาน และ รอ.ชัชวรรณ สาครสินธุ์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอัสตานา ที่สถานกงสุลกิตติมศักดิ์ไทย ณ นครอัลมาตี ว่า ตนได้รับนโยบายจากนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ให้นำทีมพาณิชย์มาหารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับโอกาสทางการค้าของไทยในสาธารณรัฐคาซัคสถาน และยังได้หารือถึงความเป็นไปได้ในการเปิดสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ที่สาธารณรัฐคาซัคสถาน เพื่อให้มาทำหน้าที่เป็นด่านหน้าในการสำรวจตลาดว่าโอกาสการค้าของไทยอยู่ตรงไหน และจะขยายความร่วมมือกับผู้ซื้อ ผู้นำเข้า เพื่อผลักดันการส่งออกของไทยให้เพิ่มขึ้นได้อย่างไร ซึ่งมีความเห็นตรงกัน และกระทรวงพาณิชย์จะเร่งดำเนินการจัดตั้งต่อไป โดยจะพิจารณาความเหมาะสมในการจัดตั้งระหว่างเมืองอัสตานาและเมืองอัลมาตี
         
ทั้งนี้ ไทยยังได้แจ้งว่า นอกจากการหาโอกาสในการขยายโอกาสทางการค้าระหว่างไทยและคาซัคสถานแล้ว ยังมีภารกิจสำคัญ คือ การลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไทยและคาซัคสถาน (Agreement on Trade and Economic Cooperation between Thailand and Kazakhstan) การพบหารือผู้บริหาร DAMU Industrial and Logistics Center เพื่อทราบลู่ทางในการขนส่งและกระจายสินค้า ทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศของคาซัคสถาน และเป็นประธานการมอบประกาศนียบัตร Thai SELECT แก่ร้านอาหารไทยในเมืองอัลมาตี
         
“ได้ขอทราบแนวทางการจัดกิจกรรมที่เหมาะสมในการโปรโมตสินค้าไทยในตลาดคาซัคสถาน เพื่อให้ผู้บริโภคชาวคาซัคสถานรู้จักและต้องการใช้สินค้าไทยเพิ่มมากขึ้น และขอทราบความคิดเห็นในเรื่องการโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าจากไทยสู่คาซัคสถาน พร้อมข้อเสนอแนะต่อผู้ประกอบการไทยที่สนใจส่งออกสินค้าสู่คาซัคสถาน”นายภูสิตกล่าว

นอกจากนี้ กรมได้แนะนำกิจกรรมส่งเสริมการค้าของกระทรวงพาณิชย์ ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ได้แก่ Bangkok RHVAC/E&E งานแสดงสินค้าเครื่องทำความเย็น ระบบและอุปกรณ์ไฟฟ้า (4-7 ก.ย.67) Bangkok Gems & Jewelry Fair งานแสดงสินค้าอัญมณี และเครื่องประดับนานาชาติ (9-13 ก.ย. 67) THAIFEX-HOREC ASIA 2025 งานแสดงสินค้าที่เกี่ยวกับธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และการจัดเลี้ยง หรือกลุ่มอุตสาหกรรม Horeca (5-7 มี.ค. 68) STYLE Bangkok 2025 งานแสดงสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่นระดับนานาชาติ (2-6 เม.ย. 68) งาน TAPA 2025 งานแสดงสินค้าชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ (3-5 เม.ย. 68) และ THAIFEX-ANUGA ASIA 2025 งานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่และครบวงจรที่สุดแห่งเอเชีย (27-31 พ.ค. 68) โดยได้เชิญชวนให้ผู้ประกอบการคาซัคสถานที่สนใจเข้าร่วมงานแสดงสินค้า หรือไปชมงานแสดงสินค้า เพื่อคัดเลือกสินค้า
         
นายภูสิตกล่าวว่า ยังได้ใช้โอกาสนี้แจ้งถึงนโยบายของรัฐบาลไทย ที่ให้ความสำคัญกับการผลักดันสินค้าและบริการของไทยที่เป็น Soft Power ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก อาทิ ภาพยนต์ ศิลปะ การท่องเที่ยว กีฬา แฟชั่น ดนตรีและเฟสติวัล รวมถึงสินค้าอาหารไทย ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกันได้ โดยปัจจุบันไทยมีการพัฒนาความสามารถด้านคอนเทนต์ที่มีความน่าสนใจและหลากหลายมากขึ้น อีกทั้งมีบริการเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Production & Post Production Services) ที่เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ โดยได้ขอทราบทิศทางนโยบายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของคาซัคสถาน และความต้องการของอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับภาคธุรกิจของไทยในการรองรับการเติบโตของธุรกิจในคาซัคสถาน
         
ในปี 2566 มูลค่าการค้าระหว่างไทย–คาซัคสถาน มีมูลค่ารวมกว่า 172 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 26% โดยมีสินค้าส่งออกศักยภาพ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ซึ่งหากภาครัฐและเอกชนของทั้ง 2 ฝ่ายสามารถหารือและทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น จะเป็นโอกาสที่ดีในการขยายมูลค่าทางการค้าที่สูงขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง


Line

คะแนนโหวต :
starstarstarstarstar
จำนวนการเข้าชม : 1,004,729