Header Image
ข้อมูลทั่วไปจังหวัด
watermark

จังหวัดสมุทรปราการ เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลางของประเทศไทย และยังเป็นจังหวัดในเขตปริมณฑลของกรุงเทพมหานคร จัดตั้งขึ้นครั้งล่าสุดโดย พระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดนครนายก พุทธศักราช 2489 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489
จังหวัดสมุทรปราการ เป็นเขตปริมณฑล จังหวัดสมุทรปราการมีเนื้อที่ 1,004 ตารางกิโลเมตร อาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับกรุงเทพมหานคร และจังหวัดฉะเชิงเทรา, ทิศตะวันออกติดต่อกับจังหวัดฉะเชิงเทรา, ทิศใต้จรดอ่าวไทย และทิศตะวันตกติดต่อกับกรุงเทพมหานคร ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มทั้งหมด มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านทางซีกตะวันตกของจังหวัด จากทิศเหนือไปทิศใต้ลงสู่อ่าวไทย มีชายฝั่งทะเลยาว 47.5 กิโลเมตร เดิมชายฝั่งทะเลมีป่าชายเลนกว้างขวาง เนื่องจากมีตะกอนที่แม่น้ำเจ้าพระยา นำพามาทับถมกันที่บริเวณปากน้ำแต่ปัจจุบันมีการบุกรุกป่าชายเลน ทำให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเป็นบริเวณกว้าง
อาณาเขตและที่ตั้ง
ทิศเหนือ : ติดต่อกับ กรุงเทพฯ
ทิศใต้ : ติดต่อกับ อ่าวไทย
ทิศตะวันออก : ติดต่อกับ จังหวัดฉะเชิงเทรา
ทิศตะวันตก : ติดต่อกับ จังหวัดสมุทรสาคร
การปกครอง
การปกครองส่วนภูมิภาค แบ่งออกเป็น 6 อำเภอ 50 ตำบล 405 หมู่บ้าน 
1.อำเภอเมืองสมุทรปราการ
2.อำเภอบางบ่อ
3.อำเภอบางพลี
4.อำเภอพระประแดง
5.อำเภอพระสมุทรเจดีย์
6.อำเภอบางเสาธง
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด
อักษรย่อ :            :  จังหวัดสมุทรปราการใช้อักษรย่อ สป
ตราประจำจังหวัด    : พระสมุทรเจดีย์
ต้นไม้ประจำจังหวัด   :  ต้นโพทะเล (Thespesia populnea)
ดอกไม้ประจำจังหวัด :  ดอกดาวเรือง (Tagetes erecta)
สัตว์น้ำประจำจังหวัด  :  ปลาสลิด (Trichopodus pectoralis)
คำขวัญประจำจังหวัด :  ป้อมยุทธนาวี พระเจดีย์กลางน้ำ ฟาร์มจระเข้ใหญ่ งามวิไลเมืองโบราณ สงกรานต์พระประแดง ปลาสลิดแห้งรสดี ประเพณีรับบัว ครบถ้วนทั่วอุตสาหกรรม
ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญในจังหวัดสมุทรปราการ มีดังนี้

          1. วัดบางพลีใหญ่ใน  (วัดพระนอน)ตั้งอยู่บริเวณริมคลองสำโรง  ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ มีพระนอนปางไสยยาสน์องค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย  หล่อด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กลงรักปิดทองตลอดทั้งองค์  ความยาวขององค์พระนอนตั้งแต่ปลายเกศ ถึงพระบาทยาว 52 เมตร 50 เซนติเมตร ความกว้าง 7 เมตร สูง 18 เมตร (วัดจากพื้นถึงปลายเกศ) 

          2. วัดบางพลีใหญ่ใน (วัดหลวงพ่อโต) ตั้งอยู่บริเวณริมคลองสำโรง  ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ มีหลวงพ่อโตซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 175 เซนติเมตร สูง 2 เมตร เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของชาวจังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดใกล้เคียง

          3. ตลาดน้ำบางพลี  ตั้งอยู่บริเวณริมคลองสำโรงติดกับวัดบางพลีใหญ่ใน  ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ  มีอายุประมาณ 141 ปี เดิมชื่อ “ตลาดศิริโสภณ” เป็นตลาดเก่าแก่ตลาดหนึ่งพื้นตลาดทำจากพื้นไม้ สามารถเดินติดต่อกันได้ถึง 500 เมตร ตลาดนี้ตั้งอยู่บนฝั่งเหนือของคลองสำโรงช่วงอำเภอบางพลี  จังหวัดสมุทรปราการ

          4. สถานตากอากาศบางปู ตั้งอยู่ 164 หมู่ 2 ถนนสุขุมวิท  ต.บางปูใหม่  อ.เมืองสมุทรปราการ  จ.สมุทรปราการ พื้นที่ด้านหน้าติดถนนสุขุมวิท  อยู่ระหว่าง  กม. ที่  37  ด้านหลังติดทะเลด้านอ่าวไทยตลอดแนว ยาว 2 กม.  มีพื้นที่ 639 ไร่ เศษ เป็นสถานที่พักผ่อน ซึ่งบริเวณโดยรอบปกคลุมล้อมรอบด้วยป่าชายเลนที่ยังคงความสมบูรณ์ตามระบบนิเวศวิทยา “สะพานสุขตา” ยืนออกไปสู่ทะเลประมาณ 500 เมตร  และมี “ศาลาสุขใจ” ซึ่งเป็นร้านอาหารสวัสดิการของกองอำนวยการสถานพักผ่อนกรมพลาธิการทหารบก สามารถนั่งรับประทานอาหาร พร้อมทั้งชมทัศนียภาพอ่าวไทยได้

          5. เมืองโบราณ ตั้งอยู่กิโลเมตรที่  33  ตำบลบางปูใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก  พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีเนื้อที่ประมาณ 800 ไร่ เป็นพื้นที่ราบที่จัดตกแต่งให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับอาณาเขตประเทศไทย ปัจจุบันมีสิ่งก่อสร้างจัดแสดงมากกว่า 122 แห่ง โดยได้นำเสนอสถานที่สำคัญๆ ทั้งที่เป็นแบบจำลอง และการถอดแบบของสถานที่ต่างๆ จากภาคเหนือ  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคใต้ สิ่งก่อสร้างมีทั้งขนาดย่อส่วนและเท่าขนาดจริง

          6. ฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์จังหวัดสมุทรปราการ  ตั้งอยู่ 555 หมู่ 7 ถนนท้ายบ้าน  ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ  โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2493 ปัจจุบันเป็นฟาร์มจระเข้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก  ภายในเป็นสถานเพาะเลี้ยงจระเข้ขนาดต่าง ๆ กว่า 60,000 ตัว  เสือ ลิงชิมแปนซี  ชะนี เต่า งู  นก อูฐ ฮิปโปโปเตมัส กวาง และปลาจำนวนมาก                  

          7. พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ  ตั้งอยู่ถนนสุขุมวิท ตำบลบางเมืองใหม่  อำเภอเมือง

สมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ  บนเนื้อที่ 12 ไร่ เป็นสถานที่เก็บรักษาศิลปวัตถุ มรดกทางวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ และเพื่อสืบสานอนุรักษ์งานศิลป์ไทยให้คงอยู่สืบชั่วลูกชั่วหลานสืบไป ช้างเอราวัณหรือช้างสามเศียร เป็นประติมากรรมลอยตัวด้วยวิธีเคาะมือแห่งแรกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำจากโลหะทองแดง แผ่นเล็กสุดขนาดเท่าฝ่ามือ 
          8. พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ  ตั้งอยู่ 99 ถนนสุขุมวิท ตรงข้าม โรงเรียนนายเรือ ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ภายในพิพิธภัณฑ์เป็นที่รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์  และโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับกองทัพเรือไทย และยุทธนาวีครั้งสำคัญๆ  นอกจากนี้ยังมีเรือจำลองสมัยต่าง ๆ  เรือที่ใช้ในพระราชพิธีกระบวนเรือพยุหยาตราชลมารค เรือรบหลวงพระร่วง เรือหลวงมัจฉานุ ซึ่งเป็นเรือดำน้ำลำแรกของกองทัพเรือไทย

          9. ตลาดคลองสวน 100 ปี  ตั้งอยู่ตำบลคลองสวน  อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ  ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยชาวจีนกลุ่มหนึ่งเมื่อราว พ.ศ. 2444  นับถึงปัจจุบันเป็นเวลามากกว่า 100 ปี ตลาดแห่งนี้ตั้งอยู่บนฝั่งคลองประเวศบุรีรมย์เชื่อมต่อคลองพระยานาคราช  ตลาดคลองสวนเป็นศูนย์รวมของการติดต่อค้าขาย และแลกเปลี่ยนสินค้าของผู้คนจากหมู่บ้านต่าง ๆ หลายหมู่บ้าน บริเวณใกล้กับตลาดคลองสวนมีฟาร์มเพาะเลี้ยงเป็ดมากกว่า 10 แห่ง อาหารขึ้นชื่อของที่นี้คือเป็ดพะโล้

          10. ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง  ตั้งอยู่ที่ หมู่ 10  ต.บางน้ำผึ้ง  อ.พระประแดง  จ.สมุทรปราการ ตลาดบางน้ำผึ้งจัดตั้งขึ้นในปี  พ.ศ. 2547 เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่จัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวของตำบลบางน้ำผึ้ง  ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของชาวบ้านร่วมกับผู้นำท้องถิ่น  และ อบต.บางน้ำผึ้ง  เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์  และสนับสนุนให้ชาวบ้านมีรายได้จากการนำผลผลิตในท้องถิ่นของตนเองมาจำหน่าย เพื่อสร้างรายได้  และก่อให้เกิดการสร้างงานภายในชุมชน  ส่งผลทำให้ชุมชนเข้มแข็งมากขึ้น    ซึ่งเมื่อเปิดตลาดน้ำ  ได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี  “ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง” นับเป็นตลาดใกล้กรุงที่มีสินค้าหลากหลายทั้งของกินของใช้ของฝากนานาชนิด จัดเป็นซุ้มให้มีทางเดินยาวกว่า 2 กิโลเมตร ขนานไปกับคลองซอยสายเล็ก ๆ ที่แตกแขนงจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาในพื้นที่ที่ทำการเกษตรของชาวบ้าน จัดจำหน่ายต้นไม้นานาพันธุ์, ปลาสวยงามหลากชนิด, และผลิตผลของชาวบ้าน นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์รวมสินค้า OTOP ที่สร้างสรรค์จากคนในชุมชนบางน้ำผึ้งและตำบลใกล้เคียงในจังหวัด สมุทรปราการ เช่น ดอกไม้เกล็ดปลา บ้านธูปสมุนไพร ผลิตภัณฑ์จากทะเล โมบายล์ ลูกตีนเป็ดรูปร่างแปลกตา เป็นต้น

          11. อุทยานประวัติศาสตร์ทหารเรือ (ป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ) ตั้งอยู่บริเวณริมปากแม่น้ำ

เจ้าพระยา ตำบลแหลมฟ้าผ่า อยู่ห่างจากแยกพระสมุทรเจดีย์ ไปตามถนนสุขสวัสดิ์  เป็นป้อมที่ทันสมัยและมีบทบาทสำคัญยิ่งในการปกป้องอธิปไตยของชาติ ซึ่งเป็นที่ทำการยิงต่อสู้กับอริราชศัตรูมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) และที่จารึกอยู่ในความทรงจำของคนไทยและประวัติศาสตร์ชาติไทยมายาวนาน เพราะในสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่า ประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสกำลังแสวงหาเมืองขึ้น บรรดาประเทศต่างๆ ที่อยู่ติดเขตแดนไทย ก็ถูกประเทศทั้งสองเข้าครอบครองไปหมดแล้ว นับเป็นภัยใหญ่หลวงสำหรับประเทศเล็กๆ อย่างประเทศไทย พระองค์จึงทรงหาวิธีป้องกันต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องการป้องกันทางน้ำ ทรงดำริให้ปรับปรุงป้อมต่างๆ ทางปากน้ำ โดยจ้างชาวต่างประเทศที่ชำนาญการทหารเรือเป็นที่ปรึกษาวางแผนในการปรับปรุง กิจการทหารเรือในครั้งนั้นด้วย

         12. พระสมุทรเจดีย์  ตั้งอยู่ถนนสุขสวัสดิ์ ตำบลปากคลองบางปลากด ในวัดพระสมุทรเจดีย์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตรงกันข้ามกับศาลากลางจังหวัด  ซึ่งเดิมพระเจดีย์นี้ตั้งอยู่บนเกาะกลางปากแม่น้ำเจ้าพระยา ท้ายป้อมผีเสื้อสมุทร ต่อมาชายตลิ่งฝั่งขวาของแม่น้ำตื้นเขินงอกออกมาเชื่อมติดกับเกาะอันเป็นที่ตั้งพระเจดีย์ ปัจจุบันจึงไม่มีสภาพเป็นเกาะอีกต่อไป พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเจดีย์นี้ขึ้นแต่ยังไม่ทันเสร็จก็สิ้นรัชกาล พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อเป็นพระเจดีย์สูง 20 เมตร ต่อมาในรัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนรูปทรงพระเจดีย์เป็นแบบระฆังคว่ำ สูง 38 เมตร ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระชัยวัฒน์ และพระปางห้ามสมุทรไว้

          13. ประเพณีรับบัว

                   - ประเพณีรับบัวเกิดจากชาวมอญพระประแดงที่ไปทำนาในฤดูทำนา  ณ  อำเภอบางพลี และเมื่อหมดฤดูก็จะกลับไปพระประแดง ซึ่งจะพอดีกับเทศกาลออกพรรษา  จึงเก็บดอกบัวที่มีอยู่มากมายที่ตำบลบางพลีใหญ่กลับไปด้วย  ต่อมาชาวอำเภอบางพลีเห็นว่าชาวมอญมักจะเก็บดอกบัวกลับไปทุกปี  จึงเก็บดอกบัวเตรียมไว้ให้ด้วยความเอื้อเฟื่อเผื่อแผ่  ในระยะแรกมีการส่งให้กับมือ ต่อมาเกิดความคุ้นเคยกันมากขึ้น จึงโยนบัวให้กันหากอยู่ไกลต่อมาชาวบ้านซึ่งนิยมถวายดอกบัวแก่พระในวันออกพรรษาจึงได้สร้างกิจกรรม งานประเพณีรับบัว  ให้ได้มีการระลึกถึงกันและเป็นโอกาสให้ได้ร่วมทำบุญทำกุศล อีกทั้งยังเป็นการร่วมสนุกกันเป็นประจำทุกปี

          14. สงกรานต์พระประแดง

                    - เป็นงานประเพณีสงกรานต์ที่ยิ่งใหญ่ จัดโดยความร่วมแรงร่วมใจของชาวไทยเชื้อสายมอญ  ในแต่ละปีสงกรานต์พระประแดงจะเริ่มในวันอาทิตย์แรกหลังวันที่  13 เมษายน  ซึ่งเดิมเรียกว่า สงกรานต์ปากลัด ในงานมีขบวนแห่นางสงกรานต์ การละเล่นพื้นเมืองของชาวมอญ เช่น การสรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ปล่อยนกปล่อยปลา การเล่นสะบ้า และเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน  ขบวนแห่นางสงกรานต์จะมีสาวงามแต่งชุดไทยหรือชุดรามัญ(มอญ) เดินแถวเรียงหนึ่ง ส่วนหนึ่งถือโหลปลา และอีกส่วนหนึ่งถือกรงนก เดินนำหน้ารถนางสงกรานต์ขนาบข้างด้วยชายหนุ่มชาวรามัญที่แต่งกายด้วยผ้าโสร่ง  สวมเสื้อคอกลม ห่มผ้าสไบคล้องคอ ตวัดชายสไบไปด้านหลังซึ่งเรียกว่าชุดลอยชาย

          15. งานนมัสการหลวงพ่อปาน

                    - งานนมัสการหลวงพ่อปานถือเป็นงานประจำปีของชาวอำเภอบางบ่อ งานนี้เกิดขึ้นจากคุณความดีแลคุณธรรมอันสูงส่งของหลวงพ่อปาน  พุทธศาสนิกชนหลั่งไหลกันมาวัดมงคลโคธาวาส เพื่อนมัสการรูปหล่อจำลองของหลวงพ่อปาน  ทุกปีงานนมัสการหลวงพ่อปาน จัดขึ้นในวันขึ้น 5-7 ค่ำ เดือน 12 ของปี รวม 3 วัน 3 คืน โดยในวันแรกของงานจะมีการอันเชิญรูปหล่อของหลวงพ่อปานแห่ทางเรือไปตามลำคลองปีกกา เพื่อให้ประชาชนสักการะแล้วแห่กลับวัดมงคลโคธาวาส  หลังจากเสร็จสิ้นการกราบไหว้บูชาแล้ว  ประชาชนจะสนุกสนานรื่นเริงกับ มหรสพต่าง ๆ  

         16. งานนมัสการองค์พระสมุทรเจดีย์

                   - งานนมัสการองค์พระสมุทรเจดีย์ เป็นงานประเพณีที่ชาวสมุทรปราการสืบสานกันมายาวนานกว่า 185 ปี เพราะองค์พระสมุทรเจดีย์เป็นที่เคารพสักการะที่ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่อจิตใจของชาวสมุทรปราการ  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา  ชาวสมุทรปราการจึงจัดให้มีงานประเพณีนมัสการองค์พระสมุทรเจดีย์ขึ้นเป็นประจำทุกปี   ซึ่งถือเป็นประเพณีที่สำคัญของชาวจังหวัดสมุทรปราการ งานนมัสการองค์พระสมุทรเจดีย์จัดให้มีการสมโภชเป็นเวลา 9 วัน 9 คืน ตั้งแต่วันแรม 5 ค่ำ เดือน 11 ในงานประเพณีจะมีมหรสพสมโภชมีการแข่งเรือ และการจำหน่ายสินค้าชุมชน

          17. งานประเพณีแห่หงส์ธงตะขาบ

                  - ธงตะขาบเป็นประเพณีของอำเภอพระประแดง  โดยเฉพาะประเพณีเริ่มต้นมานานกว่า 30 ปี จะจัดขึ้นทุกวันที่ 13 เมษายนของทุกปี  โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรำลึกถึงบรรพบุรุษชาวมอญ หงส์ เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนตำนานการกำเนิดถิ่นฐานของมอญ ณ กรุงหงสาวดี และตะขาบเป็นสัญลักษณ์ของคติธรรม ความเชื่อทางพุทธศาสนาที่เปรียบดังสัดส่วนในอวัยวะต่าง ๆ ของตัวตะขาบ  ชาวมอญทั้ง ๗ หมู่บ้าน จะร่วมกันจัดทำธงตะขาบของหมู่บ้านตน และหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ  โดยมารวมตัวกันที่ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอพระประแดง  ตั้งขบวนแห่ไปตามจุดต่าง ๆ ของตลาดพระประแดงหลังจากเสร็จการแห่ ชาวมอญแต่ละหมู่บ้านก็จะนำธงตะขาบไปแขวนที่เสาหงส์ของแต่ละวัดในหมู่บ้าน

          18. งานแห่เจ้าพ่อทัพ  สำโรง

                   - ชาวจีนที่อาศัยอยู่ในตำบลสำโรงเหนือ อำเภอเมืองสมุทรปราการ เชื่อว่าเจ้าพ่อทัพช่วยให้พวกเขาสร้างฐานะจนร่ำรวยจากการทำมาหากิน พวกเขาจึงได้สร้างศาลเจ้าพ่อทัพไว้เป็นที่สักการบูชา ทุกปีจะมีการจัดงานแห่เจ้าพ่อทัพที่ข้างห้างอิมพิเรียลเวิลด์ สำโรง ในวันอาทิตย์ราวปลายเดือนมกราคม ถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์  ในขบวนแห่ประกอบด้วยวงดุริยางค์ของโรงเรียนมัธยมด่านสำโรง  เป็นขบวนนำตามด้วยขบวนอื่น ๆ โดยขบวนจะแห่ผ่านถนนสุขุมวิทและวกกลับไปทางถนนปู่เจ้าสมิงพรายกลับไปยังศาลเจ้าพ่อทัพ   เมื่อขบวนเหล่านั้นผ่านร้านค้า เจ้าของร้านจะออกมาต้อนรับด้วยการบริจาคเงินร่วมทำบุญ มีการจัดงานเฉลิมฉลอง 3 วัน 3 คืน  ในงานมีการเล่นงิ้ว
การคมนาคม
การคมนาคมทางบก จังหวัดสมุทรปราการมีทางหลวงแผ่นดินสายสำคัญดังนี้

                              (1)     ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท)

                              (2)     ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 (ถนนบางนา - ตราด)

                              (3)     ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 303 (ถนนสุขสวัสดิ์)

                              (4)     ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3104 (ถนนเพชรหึงส์)

                              (5)     ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3113 (ถนนปู่เจ้าสมิงพราย)

                              (6)     ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3116 (ถนนแพรกษา)

                              (7)     ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3117 (ถนนปานวิถี)

                              (8)     ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3243 (ถนนแหลมฟ้าผ่า)

                              (9)     ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3344 (ถนนศรีนครินทร์)

                              (10)   ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3256 (ถนนกิ่งแก้ว)

                              (11)    ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3268 (ถนนเทพารักษ์)

                              (12)    ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3413 (ถนนเลี่ยงเมืองบางบ่อ)

                              (13)    ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3701 (ทางบริการพิเศษสายมอเตอร์เวย์ด้านซ้ายทาง)

                              (14)    ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3702 (ทางบริการพิเศษสายมอเตอร์เวย์ด้านขวาทาง)

                              (15)     ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3901 (ทางบริการถนนกาญจนาภิเษกด้านซ้ายทาง)

                               (16)      ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3902(ทางบริการถนนกาญจนาภิเษกด้านขวาทาง)

                                นอกจากทางหลวงแผ่นดิน 13 สายแล้ว ยังมีทางหลวงพิเศษสายมอเตอร์เวย์ และทางด่วนเชื่อมต่อสายบางพลีสุขสวัสดิ์ (ถนนกาญจนาภิเษก) ทางพิเศษบูรพาวิถี ถนนวงแหวนอุตสาหกรรม ทางหลวงชนบทรวมทั้งที่ถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 82 สายทาง และได้มีการก่อสร้างสะพานแขวนข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 2 แห่ง คือ สะพานกาญจนาภิเษก และสะพานวงแหวนอุตสาหกรรม

                           การคมนาคมทางน้ำ จังหวัดสมุทรปราการมีท่าเทียบเรือที่สำคัญดังนี้

                               (1) ท่าเรือวิบูลย์ศรี ตั้งอยู่ที่ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองสมุทรปราการ

                               (2)  ท่าเรือพระประแดง ตั้งอยู่ที่หน้าที่ว่าการอำเภอพระประแดง

                               (3) ท่าเรือคลองด่าน ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ

                               (4)  ท่าห้องเย็น ตั้งอยู่ที่ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ

                               (5)   ท่าสะพานปลา ตั้งอยู่ที่ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ

                               (6)  ท่าเรือข้ามฟากเภตรา เป็นแพขนานยนต์ ใช้บรรทุกยานพาหนะข้ามฟากระหว่างอำเภอพระประแดงฝั่งตะวันตกและตะวันออก

                               (7)  ท่าเรืออายิโนะโมะโต๊ะ อยู่ในเขตอำเภอพระประแดง ใช้บรรทุกยานพาหนะข้ามฟากไปยังบริเวณท่าเรือข้ามฟากเภตรา

                           การคมนาคมทางอากาศ ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ (Suwanabhumi Airport) ตั้งอยู่ที่ถนนบางนา-ตราด ประมาณกิโลเมตรที่ 15 ตำบลราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ห่างจากใจกลางกรุงเทพมหานคร 25 กิโลเมตร เปิดใช้งานวันที่ 28 กันยายน 2549 นับเป็นท่าอากาศยานที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุด (เนื้อที่ 20,000 ไร่) ซึ่งมีการประมาณการว่า ในปี พ.ศ. 2553 จะมีปริมาณผู้โดยสารสูงถึง 58 ล้านคนต่อปี รองรับเที่ยวบิน 76 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และรองรับการขนส่งสินค้าทางอากาศ 3 ล้านตันต่อปี ซึ่งทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นศูนย์กลางด้านการบินของภูมิภาค โดยสนามบินสุวรรณภูมิเป็นศูนย์กลางการบินและประตูสู่เอเชีย ให้บริการ 102 สายการบิน สู่ 142 เมืองทั่วโลก

 

จังหวัดสมุทรปราการ  หรือเรียกโดยทั่วไปว่า  '' เมืองปากน้ำ "  เป็นเมืองหน้าด่านทางทะเล ที่สำคัญในอดีต  หมายถึง กำแพงชายทะเลหรือกำแพงริมทะเล สร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ในสมัยของพระเจ้าทรงธรรม เดิมตั้งอยู่ใกล้คลองปลากดทางฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยาต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองสมุทรปราการเป็นเมืองใหม่ที่บริเวณบางเจ้าพระยา คือ ตำบลปากน้ำในปัจจุบัน อยู่ระหว่างคลองปากน้ำ กับคลองมหาวงศ์  อันเนื่องจากทรงเล็งเห็นว่าที่ตั้งเมืองสมุทรปราการ ยังไม่มั่นคงพอที่จะตั้งรับต่อสู้กับข้าศึกได้  และได้ทำพิธีฝังหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 4 ขึ้น 7 ค่ำ พ.ศ.2365 บริเวณที่ฝังหลักเมืองชาวบ้านเรียกว่า "ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง"  เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่ง ของชาวสมุทรปราการมาจนถึงปัจจุบันนี้  ต่อมาในปี พ.ศ. 2475 จังหวัดพระประแดงถูกยุบ และให้มารวมขึ้นอยู่กับจังหวัดสมุทรปราการ  ดังนั้นจังหวัดพระประแดง จึงคงสภาพเป็นเพียงอำเภอพระประแดง   ที่ตั้งอยู่ใกล้ปากกแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาในปี พ.ศ.2485  จังหวัดสมุทรปราการ ถูกยุบไปรวมกับจังหวัดพระนคร จนถึงปี พ.ศ.2489  รัฐบาลได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งจังหวัดสมุทรปราการขึ้นมาใหม่อีกครั้ง และดำรงฐานะเป็นจังหวัดสมุทรปราการมาจนถึงทุกวันนี้  จังหวัดสมุทรปราการ เป็นจังหวัดที่มีป้อมปราการมากมาย ที่สร้างขึ้นเพื่อป้องกันการรุกรานของข้าศึกตั้งอยู่ทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาดังต่อไปนี้  คือ
1. ป้อมประโคนชัย
2. ป้อมนารายณ์ปราบศึก
3. ป้อมปราการ
4. ป้อมกายสิทธิ์
5. ป้อมผีเสื้อสมุทร
6. ป้อมตรีเพชร
7. ป้อมคงกระพัน
8. ป้อมเสือซ่อนเล็บ
9. ป้อมพระจุลจอมเกล้า
             ปัจจุบัน ป้อมปราการในจังหวัดสมุทรปราการเหลืออยู่เพียง  2 ป้อม เท่านั้น คือ ป้อมผีเสื้อสมุทร  และป้อมพระจุลจอมเกล้า

             




 

                                                                                                     คำขวัญจังหวัดสมุทรปราการ

 

 


image รูปภาพ
สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสมุทรปราการ
สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสมุทรปราการ
สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสมุทรปราการ
สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสมุทรปราการ
สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสมุทรปราการ

Line

คะแนนโหวต :
starstarstarstarstar
จำนวนการเข้าชม : 108,705