สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสมุทรปราการ
เลขที่ 3/1 ถนนศรีสมุทร ซอย 1 ตำบลปากน้ำ
อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ 10270
โทรศัพท์ : 02-395-4269 Email : sp_ops@moc.go.th
“พิชัย”ร่วมประชุมรัฐมนตรีเอเปก ที่เปรู หนุนแนวทางการพัฒนาการค้าที่ครอบคลุม เชื่อมโยงกัน และยั่งยืน พร้อมสนับสนุนการทำเขตการค้าเสรีเอเปก (FTAAP) สบช่องหารือคู่ค้า สหรัฐฯ เกาหลีใต้ เปรูชิลี ญี่ปุ่น แคนาดา และจีนฮ่องกง กระชับความสัมพันธ์การค้า การลงทุน
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนได้ใช้โอกาสในการเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปก (APEC Ministerial Meeting : AMM) ครั้งที่ 35 ที่สาธารณรัฐเปรู ซึ่งเป็นการประชุมร่วมระหว่างรัฐมนตรีการค้าและรัฐมนตรีต่างประเทศของสมาชิกเอเปก ภายใต้หัวข้อหลัก “เสริมสร้าง. ครอบคลุม. เติบโต.” ที่เน้นหารือแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าที่ครอบคลุม เชื่อมโยงกัน และยั่งยืน ผ่านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจนอกระบบมาสู่เศรษฐกิจที่เป็นทางการ โดยไทยได้แสดงวิสัยทัศน์ในการสนับสนุนการค้าและการลงทุนที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงกันภายใต้หัวข้อดังกล่าว
ทั้งนี้ ยังได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมในวาระที่ 3 เรื่อง “การค้าและการลงทุนเพื่อการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงกัน” โดยสรุปสาระว่า WTO สามารถมีบทบาทร่วมกับองค์การระหว่างประเทศ ในการสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี เพื่อการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม เชื่อมโยงกัน และยั่งยืน ผ่านการออกมาตรการทางการค้าที่เหมาะสม โดยไม่สร้างอุปสรรคทางการค้าที่ไม่จำเป็น
ขณะเดียวกัน ได้กล่าวสนับสนุนการผลักดันให้เกิดเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) โดยสนับสนุนให้เขตเศรษฐกิจเอเปกใช้ประโยชน์จากผลการศึกษาต่าง ๆ ของเอเปก เพื่อลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงระดับขีดความสามารถที่แตกต่างกัน และยังนำเสนอนโยบายของไทย ที่พัฒนาการค้าการลงทุนอย่างยั่งยืน การเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้าสำคัญ และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าถึงตลาดและเชื่อมต่อกัน เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจฐานรากที่ครอบคลุม เชื่อมโยงกัน และยั่งยืน
นายพิชัยกล่าวว่า ในการประชุมดังกล่าว ตนได้มีโอกาสพบกับรัฐมนตรีการค้าจากสมาชิกเอเปกต่าง ๆ ที่เข้าร่วมประชุม เช่น สหรัฐฯ เกาหลีใต้ เปรูชิลี ญี่ปุ่น แคนาดา และจีนฮ่องกง โดยในภาพรวม ได้หารือแนวทางการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าที่ไทยและเขตเศรษฐกิจจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน อาทิ การร่วมกันส่งเสริมการนำเข้า-ส่งออก การสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย การผลักดันซอฟต์ พาวเวอร์ และการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ให้มากขึ้น เป็นต้น
นอกจากนี้ ได้ร่วมคณะผู้แทนไทย นำโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พบหารือทวิภาคีกับนางดินา เอร์ซิเลีย โบลัวร์เต เซการ์รา ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเปรู และได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ให้เป็นผู้แทนเข้าร่วมหารือกับผู้นำแขกรับเชิญพิเศษที่ไม่ได้เป็นสมาชิกในเอเปก โดยมีผู้นำประเทศที่สำคัญเข้าร่วม อาทิ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ นายกรัฐมนตรีบรูไน อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เป็นต้น รวมทั้งได้มีการพบหารือกับเอกชน อาทิ Google และ Walmart เป็นต้น
สำหรับเอเปก ประกอบด้วยสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม แคนาดา ชิลี จีน จีนฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐฯ และเวียดนาม มีประชากรรวมกว่า 38% ของประชากรโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวมกว่า 61% มีมูลค่าการค้าสินค้าและบริการรวมกว่า 47% ของโลก และเป็นเวทีสำหรับหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่สมาชิกเอเปกสนใจร่วมกัน เพื่อส่งเสริมระบบการค้าในระดับพหุภาคี สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และความท้าทาย ประเด็นทางการค้าใหม่ เช่น ประเด็นด้านดิจิทัลและการสร้างความเชื่อมโยงเพื่อสร้างพื้นที่ในการทำงานร่วมกันด้านเศรษฐกิจการค้า การค้าที่ครอบคลุม ความเท่าเทียมทางเพศ การเสริมพลังทางเศรษฐกิจให้แก่สตรีและกลุ่มผู้ด้อยโอกาสการประยุกต์ใช้นวัตกรรม และเสริมสร้างขีดความสามารถในการปรับตัวเพื่อรับมือกับปัญหาและความท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ในยุคปัจจุบัน ซึ่งรวมทั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อมกับความยั่งยืน
ทางด้านการค้าไทยกับเอเปก ในปี 2566 มีมูลค่ากว่า 14.01 ล้านล้านบาท คิดเป็น 70.33% ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย และในช่วง 9 เดือนปี 2567 (ม.ค.-ก.ย.) การค้าของไทยกับเอเปกมีมูลค่า 11.4 ล้านล้านบาท (318,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เป็นการส่งออกไปเอเปก 5.6 ล้านล้านบาท (156,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และการนำเข้าจากเอเปก 5.8 ล้านล้านบาท (161,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)