สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสมุทรปราการ
เลขที่ 3/1 ถนนศรีสมุทร ซอย 1 ตำบลปากน้ำ
อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ 10270
โทรศัพท์ : 02-395-4269 Email : sp_ops@moc.go.th
ระหว่างวันที่ 13-16 พ.ย.2567 ที่ผ่านมา “นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ได้เดินทางไปเข้าร่วม “การประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปก (APEC Ministerial Meeting) ครั้งที่ 35” และ “การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก (APEC Economic Leaders' Meeting) ครั้งที่ 31” ที่กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู
การประชุมรัฐมนตรีเอเปกครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นการติดตามงานที่ผู้นำเอเปก ได้เคยให้ความเห็นชอบเอาไว้ โดยมี “หลายเรื่องสำคัญ” ที่ได้รับการสานต่อ ทั้งเศรษฐกิจสีเขียว เขตการค้าเสรีเอเปก (FTAAP) เศรษฐกิจดิจิทัล ความครอบคลุมและความเท่าเทียม
จากการติดตามข่าวสารที่ “ทีมงานพาณิชย์” ส่งเข้ามาอย่างต่อเนื่อง พูดได้ว่า นายพิชัย ที่เป็น “ผู้แทนประเทศไทย” ในฝั่ง “รัฐมนตรีการค้า” ปฏิบัติภารกิจได้ชนิดที่เรียกว่า “ทำได้-ทำถึง” และยังได้ใช้เวทีนี้ “โชว์กึ๋น” ในหัวข้อเรื่อง “การค้าและการลงทุนเพื่อการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงกัน” โดยสรุปว่า WTO สามารถมีบทบาทร่วมกับองค์การระหว่างประเทศในการสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี ผ่านการออกมาตรการทางการค้าที่เหมาะสม โดยไม่สร้างอุปสรรคทางการค้าที่ไม่จำเป็น
นายพิชัยยังได้ปฏิบัติการเชิงรุกต่อ ยืนยันว่าไทย “สนับสนุน” และ “ผลักดัน” ให้เกิด “เขตการค้าเสรีเอเปก (FTAAP)” เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถทางการค้าให้กับเขตเศรษฐกิจที่เป็นสมาชิก เพราะเป็นเรื่องที่ไทยเคยริเริ่มไว้ เมื่อครั้งที่เป็น “เจ้าภาพจัดการประชุม” เมื่อปี 2565
ส่วนการสร้างโอกาสทาง “การค้า-การลงทุน” ให้กับประเทศไทย นายพิชัยได้ใช้การเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ทำการ “นัดหมาย-พบปะ” กับประเทศคู่ค้าที่เป็น “เป้าหมาย” หลายต่อหลายประเทศ
ปรากฏว่า “ประสบความสำเร็จ” ชนิดที่เรียกได้ว่า “เกินคาด”
เริ่มจากการประชุมหารือกับ “นายชอง อิน-กโย รัฐมนตรีการค้า กระทรวงการค้า อุตสาหกรรมและพลังงาน” ของเกาหลีใต้ โดยทั้งสองฝ่าย “เห็นพ้อง” ยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจด้วยการเดินหน้าเจรจาจัดทำ “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-เกาหลีใต้ (EPA)” ให้ “สรุปผลการเจรจา” ภายในปี 2568 และ “ลงนามกัน” ในช่วงที่เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปก ซึ่งหากสำเร็จตามเป้า จะสร้างโอกาสทางการค้า-การลงทุนให้กับไทยได้อีกมหาศาล
ไม่เพียงแค่นั้น นายพิชัยยังลุยเปิดตลาดให้สินค้าให้ไทย ด้วยการขอให้เกาหลีใต้เปิดตลาดให้กับ “มะม่วง มังคุด สับปะรด กุ้งสดและแปรรูป ไก่สดและแปรรูป” พร้อมเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย-อุตสาหกรรมสมัยใหม่ อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี เซมิคอนดักเตอร์ แผงวงจรพิมพ์ (PCB) การแพทย์ เทคโนโลยีชีวภาพ ดิจิทัล และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
ต่อมาได้ประชุมกับ “นายแอลเจอร์นอน เยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ของฮ่องกง ได้เชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ SME และขอให้ฮ่องกงซื้อสินค้าไทย เช่น ข้าว อาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งฮ่องกงยินดีที่จะเข้ามาลงทุน และซื้อสินค้าไทยเพิ่ม นี่ก็สร้างโอกาสให้กับไทยแบบเห็น ๆ
จากนั้น หารือกับ “นางเกลาเดีย ซันอูเอซา ริเบโรส รัฐมนตรีช่วยด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศของสาธารณรัฐชิลี” ได้คุยกันถึงการทำ FTA ไทย-ชิลี ที่กำลังจะครบ 10 ปี ในเดือน พ.ย.2568 และผลักดันการปรับปรุงหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า และพิกัดศุลกากรให้เป็นปัจจุบัน เพื่อสร้างโอกาสทางการค้า
สำหรับการประชุมกับ “นางแคทเธอรีน ไท ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ” ได้ย้ำว่าสหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญของไทย ไทยพร้อมร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และพร้อมที่จะเป็นฐานการลงทุนให้กับสหรัฐฯ โดยปัจจุบัน Google และ Amazon ได้เข้ามาลงทุนใน Data Center และ Cloud Service ในไทยแล้ว และได้ใช้โอกาสนี้ ผลักดันให้สหรัฐฯ ต่ออายุ “โครงการ GSP” ที่หมดอายุไปตั้งแต่ปี 2563 และปลดไทยพ้นจาก “บัญชีประเทศที่ถูกจับตา (WL)”
การประชุมกับ “น.ส.แมรี่ อิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการส่งเสริมการส่งออก การค้าระหว่างประเทศ และการพัฒนาเศรษฐกิจ” ของแคนาดา ได้เชิญชวนให้นักลงทุนแคนาดาด้านเทคโนโลยี พลังงานสะอาด ปัญญาประดิษฐ์ การบิน การเงิน และอิเล็กทรอนิกส์ มาลงทุนไทยเพิ่ม และขอให้สนับสนุนไทยเข้าเป็นสมาชิก “องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)”
การประชุมกับ “นายมูโตะ โยจิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม” ของญี่ปุ่น ได้เชิญชวนญี่ปุ่นขยายการลงทุนในไทยเพิ่มเติมในกลุ่มยานยนต์สันดาปและยานยนต์ยุคใหม่ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์ให้กับญี่ปุ่นต่อไป และขอให้เข้ามาลงทุนใน EEC เพิ่มขึ้น ในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ทั้งอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เซมิคอนดักเตอร์ ดิจิทัล AI พลังงานสะอาดและสีเขียว
นอกจากนี้ ยังได้รับมอบหมายจาก “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี” ให้หารือกับ “นายวิลสัน ไวท์ ผู้แทน บริษัท Google” และ “แอนเดรีย อัลไบรท์ รองประธานบริหารฝ่ายจัดหาสินค้า Walmart” บริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ
โดยในส่วนของ Google ได้หารือเพิ่มความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา และได้ชวนให้เข้ามาลงทุน ซึ่ง Google บอกว่ามีแนวโน้มจะมาลงทุนในไทยเพิ่ม หลังจากเข้ามาดำเนินการในไทยแล้ว 13 ปี สามารถสร้างงาน สร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจไทยได้เป็นจำนวนมาก
ในส่วน Walmart ได้ขอให้พิจารณา “ซื้อสินค้าไทย” เข้าไปขายในห้างเพิ่มมากขึ้น โดยยืนยันว่า ไทยมีสินค้าที่ตอบสนองความต้องการได้หลากหลาย และการผลิตเป็นไปตามมาตรฐานโลก สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับเรื่องลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานหมุนเวียน ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่ง Walmart ยินดีที่จะซื้อเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เคยซื้ออยู่แล้ว
เวทีประชุมเอเปก ที่ใช้เวลาแค่ไม่กี่วัน และส่วนใหญ่ก็อยู่แต่ในห้องประชุม แต่นายพิชัยสามารถใช้โอกาสนี้ “เจรจาว่าความ” กับคู่ค้าสำคัญของไทย และบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก จนสร้างโอกาสทาง “การค้า-การลงทุน” ให้กับไทยได้เป็นจำนวนมาก
นี่ถ้า “ผู้เขียน” เป็นภาคเอกชน คงดีใจเป็นอย่างมาก ที่มี “รัฐมนตรีการค้า” ที่รู้ทันการค้า รู้ความต้องการของภาคเอกชน แล้วมาเจรจาสร้างโอกาสทางการค้าได้เป็นจำนวนมากแบบนี้